แพทย์หญิง กิจจาวรรณ เฮงคราวิทย์
รองศาสตราจารย์(พิเศษ)นายแพทย์ ทวี โชติพิทยสุนนท์
ในช่วงนี้ประเทศไทยเป็นฤดูฝนทำให้เด็กๆมีภาวะเจ็บป่วยของระบบทางเดินหายใจส่วนบน (จมูก คอหอย) และส่วนล่าง (หลอดลม ปอด) สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส ได้แก่ เชื้อไข้หวัดใหญ่ (influenza), พาราอินฟูเอนซ่า (parainfluenza), อะดีโนไวรัส (adenovirus) ,ไรห์โนไวรัส (rhinoviruses), และที่สำคัญกำลังระบาดในขณะนี้คือ RSV (respiratory syncytial virus) สำหรับปีนี้พบการระบาดตั้งแต่ช่วงปลายมิถุนายน 2561 ส่งผลให้พบผู้ป่วยจำนวนมาก บทความนี้เป็นลักษณะถามตอบเพื่อการเข้าใจได้ง่ายขึ้น
RSV คืออะไร ?
RSV คือไวรัสชนิดมีเปลือกหุ้ม ชื่อเต็มว่า Respiratory Syncytial Virus มีสองสายพันธุ์ คือ RSV-A และ RSV-B เป็นไวรัสก่อการติดเชื้อทางเดินหายใจของเด็กทั่วโลก โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี และมีการระบาดเกือบทุกปี
หลังรับเชื้อนานเท่าไรจึงมีอาการป่วย (ระยะฟักตัว) ?
พบว่าหลังรับเชื้อ RSV สามารถแสดงอาการได้เร็วที่สุดหลังติดเชื้อ 2 วัน ช้าที่สุดประมาณ 8 วัน โดยส่วนใหญ่เฉลี่ยอยู่ที่ 4-6 วัน
อาการเป็นอย่างไร ?
ช่วงแรกมักมีอาการคล้ายไข้หวัดธรรมดาเช่น ไข้ ไอ จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล ผู้ใหญ่หรือเด็กโตที่แข็งแรงดีอาการมักไม่รุนแรงและหายได้เอง แต่สำหรับเด็กเล็ก (ต่ำกว่า 2 ป๊) ที่ติดเชื้อครั้งแรกพบร้อยละ 20-30 ที่มีอาการโรคลุกลามไปทางเดินหายใจส่วนล่าง (หลอดลม เนื้อปอด) ทำให้เกิดหลอดลมใหญ่อักเสบ หลอดลมฝอยอักเสบและปอดอักเสบตามมาได้ โดยมักแสดงอาการไข้สูง ไอแรง หอบเหนื่อย หายใจมีเสียงหวีดหวิว หรือ เสียงครืดคราดในลำคอ โดยเฉพาะเด็กที่อายุน้อยกว่า 1-2 ปี เด็กที่ภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง เด็กที่คลอดก่อนกำหนด โรคหัวใจ โรคปอดเรื้อรัง บางรายอาจมีภาวะแทรกซ้อนเช่น หูอักเสบ ไซนัสหรือปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน ซึ่งจะมีอาการรุนแรงมากขึ้นได้
อาการแตกต่างจากไข้หวัดธรรมดาอย่างไร ?
อาการไม่แตกต่างจากไข้หวัดธรรมดาในผู้ใหญ่หรือเด็กโต แต่ในเด็กเล็กเริ่มต้นเป็นไข้หวัดแล้วอาจมีเชื้อลุกลามไปทางเดินหายใจส่วนล่างเป็นปอดอักเสบได้
การรักษาทำอย่างไร ?
ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคติดเชื้อไวรัส RSV มีแค่รักษาตามอาการ เช่น การให้ยาลดไข้ แก้ไอละลายเสมหะ ในเด็กบางรายที่มีเสมหะเหนียวมาก ต้องทำการพ่นยาขยายหลอดลมหรือน้ำเกลือผ่านทางออกซิเจนละอองฝอย เคาะปอดและดูดเสมหะออก ยาปฏิชีวนะไม่มีประโยชน์หากไม่มีเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน
หากเป็นแค่อาการหวัดจากเชื้อ RSV ให้รักษาตามอาการที่บ้านได้ ไม่มีความจำเป็นต้องนอนในโรงพยาบาล การนอนในโรงพยาบาลที่เกินความจำเป็นนอกจากไม่มีประโยชน์แล้วยังอาจก่อผลเสีย เช่น เกิดการติดเชื้ออื่นแทรกซ้อนจากโรงพยาบาล และการแพร่เชื้อ RSV ให้ผู้อื่นในโรงพยาบาล
อาการอย่างไรต้องนอนโรงพยาบาล ?
เมื่อผู้ป่วยไข้สูง ไม่กิน ไม่เล่น หายใจเร็วกว่าปกติ หายใจมีเสียงหวีด หงุดหงิดง่าย หรือเซื่องซึม ผู้ปกครองควรจะพามาพบแพทย์เพื่อการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
รู้ได้อย่างไรว่าลูกเราเป็น RSV ?
แพทย์สามารถตรวจจากน้ำมูก ซึ่งจะตรวจพบเชื้อ RSV เพียงร้อยละ 53-96 ของผู้ป่วยทีติดเชื้อ RSVการตรวจทำได้ในบางโรงพยาบาลเท่านั้น อย่างไรก็ตามไม่มีความจำเป็นต้องตรวจทุกรายเพราะการตรวจพบหรือไม่พบเชื้อ RSV ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงการรักษา แต่ช่วยในการแยกผู้ป่วยเพื่อลดการแพร่กระจายโรค
ติดต่อได้อย่างไร ?
ติดต่อผ่านการหายใจเอาละอองเสมหะของผู้ป่วยที่ติดเชื้อ RSV เช่น น้ำมูก น้ำลายหรือสัมผัสสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่งเช่น โต๊ะ เก้าอี้ ลูกบิดประตู ของเล่น ฯลฯ เชื้อ RSV สามารถมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานหลายชั่วโมงและสามารถอยู่ที่มือของเราได้นานประมาณ 30 นาที ดังนั้นผู้ใหญ่ที่มีเด็กเล็กป่วยในบ้านควรล้างมือบ่อยๆก่อนสัมผัสเด็ก
เป็นแล้วเป็นอีกได้หรือไม่ ?
เป็นได้หลายครั้งเนื่องจากไวรัส RSV มี 2 สายพันธุ์และกลับมาเป็นซ้ำได้อีกหากร่างกายอ่อนแอ
ผู้ใหญ่ติดได้หรือไม่ ?
ผู้ใหญ่สามารถติดเชื้อ RSV ได้แต่อาการมักไม่รุนแรงเนื่องจากมีภูมิคุ้มกันมาบ้างแล้ว
แพร่กระจายโรคได้นานไหม ?
โดยทั่วไปผู้ป่วยจะแพร่เชื้อได้นาน 3-8 วันหลังมีอาการป่วยแต่อาจนานถึง 3-4 สัปดาห์ในเด็กเล็กหรือเด็กที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
หายป่วยไปโรงเรียนได้ไหมและเริ่มไปโรงเรียนได้เมื่อไหร่ ?
หากมีอาการป่วยควรให้หยุดเรียน หยุดไปเนอเซอร์รี่จนกว่าอาการจะหาย หรืออย่างน้อย 5-7 วัน เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อให้ผู้อื่น
การป้องกันทำได้อย่างไร ?
ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ไม่มียาป้องกัน จึงควรป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อได้ ดังนี้
- ทุกคนในบ้านหมั่นล้างมือบ่อย ๆ ทั้งมือของตนเองและลูกน้อย เพราะการล้างมือนอกจากจะลดเชื้อ RSV และเชื้ออื่นๆที่ติดมากับมือทุกชนิด ทั้งเชื้อไวรัสและแบคทีเรียได้ถึงร้อยละ 70
- การใช้แอลกอฮอลเจลถูมือช่วยป้องกันโรคได้บ้าง ยังแนะนำให้ล้างมือบ่อยๆได้ประโยชน์กว่า
- หลีกเลี่ยงเด็กทั้งสบายดีหรือป่วยไปในที่ชุมชนหรือสถานที่แออัด
- ทำความสะอาดบ้าน รวมทั้งของเล่นเด็กเป็นประจำ
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ทารกที่สูดดมควันบุหรี่เข้าไปมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัส RSV และพบอาการที่รุนแรงได้มากกว่า
- ควรรับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ ดื่มน้ำมากๆ และให้เด็กพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่อยู่ในห้องแอร์ตลอดเวลา
- สำหรับคุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ปกครองเมื่อบุตรหลานมีอาการป่วยเป็นไข้หวัด ควรแยกเด็กออกจากเด็กปกติเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อ
อ้างอิงจาก https://www.pidst.or.th/A667.html